โครงสร้างธุรกิจและโอกาสทางการตลาดธุรกิจการพิมพ์


ศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจการพิมพ์ ในส่วนของธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยใช้ Diamond Model สรุปได้ว่า ด้านปัจจัยการผลิตได้เปรียบด้านวัตถุดิบ คือ กระดาษ ด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของเครื่องจักรและวัสดุหมึกพิมพ์ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในด้านการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดเล็กมีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เข้าง่ายและออกง่าย และธุรกิจโรงพิมพ์ขนาดใหญ่มีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐยังให้การสนับสนุนไม่เพียงพอ ในด้านโอกาสทางการตลาดในประเทศมีโอกาสเติบโตมาก สรุปได้คือ
-อัตราการบริโภคยังต่ำ มีแนวโน้มการบริโภคที่มากขึ้น เช่น นิตยสาร Pocket Book
-มีการผลักดันที่จะให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
-การเปิดเสรี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
-มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น การตั้งโรงงานกระดาษ Recycle
-รัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาค

นอกจากนี้ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของแรงงานที่ค่าจ้างยังไม่สูงมาก อีกทั้ง มีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์เพื่อธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะ อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกของโลก ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร” ที่จะผลักดันให้เกิดอาณาจักรอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งระบบ ตังอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 20 กิโลเมตร

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ประเทศไทยยังมีการส่งออกสิ่งพิมพ์น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการในตลาดโลก ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 26,752.50 ล้าน US$ โดยประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก 10,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 250 ล้าน US$ คิดเป็นประมาณ 1 % ของ World Demand เท่านั้น แสดงให้เห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศยังมีสูงมาก นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้น จากศักยภาพในการแข่งขัน จุดแข็งและโอกาสทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจการพิมพ์ สามารถที่จะผลักดันให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและขยายไปยังต่างประเทศต่อไปได้ ทั้งนี้ คู่แข่งที่สำคัญของไทยในภูมิภาคได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ โดยอาจมีมาเลเซียสอดแทรกอยู่ ซึ่งสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ถือเป็น Benchmark ที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยจะต้องแข่งขันให้ได้ โดยที่สิงคโปร์มีผู้ประกอบการ 500 ราย น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย ซึ่งมี 3,500 ราย แต่มีมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 600 ล้าน US$ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท ต่อปี มากกว่าประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 10,000 ล้านบาท ประมาณ 1.5 เท่า ทั้งนี้ สิงคโปร์มี จุดแข็งในเรื่องของแรงงานที่มีทักษะและการศึกษาสูง การพิมพ์มีคุณภาพและมาตรฐานสูง สำนักพิมพ์ (Publisher) ต่างชาติใช้ฐานการผลิตสูง และการโทรคมนาคม การขนส่ง มีประสิทธิภาพ ราคาต่ำ ในขณะที่ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องของความสามารถในการผลิตวัตถุดิบได้เอง โดยเฉพาะในเรื่องของกระดาษ และค่าจ้างแรงงานไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และที่สำคัญประเทศไทยกำลังจะมีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาค